Sunday, May 5, 2024
Latest:
ตระเวนกิน-เที่ยว

ชุมชนปากน้ำแหลมสิงห์ จัดระบบทรัพยากรหนุนท่องเที่ยว ”โฮมสเตย์ กินปู ดูเหยี่ยว” แบบยั่งยืน

ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ปากน้ำแหลมสิงห์ บรูณาการร่วมกับหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน หาแนวทางส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรป่าชายเลน สร้างรายได้และเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ทั้งลดปัญหาข้อขัดแย้งพื้นที่ทับซ้อนให้สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

นายมณี รัตนสร้อย ประธานชมรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์แหลมสิงห์ กล่าวว่าปัจจุบันอำเภอแหลมสิงห์มีผู้ประกอบการโฮมสเตย์ 28 แห่ง ทยอยเริ่มลดลงสืบเนื่องจากผลกระทบในช่วงโควิด 3-4 ปีที่ผ่านมา รายเล็กๆ ของชาวบ้าน เริ่มอยู่ไม่ได้ขณะที่ระดับกลางและใหญ่ยังพอประคับประคองอยู่ได้ จากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิเราเที่ยวด้วยกันทำให้คนมาเที่ยวที่ปากน้ำแหลมสิงห์บ้าง แต่ภาวะการท่องเที่ยวช่วง 1-2 ปีซบเซาเนื่องจากคนไม่มีเงินจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ ปัจจุบันกลุ่มครอบครัวมาท่องเที่ยวลดลง ขณะที่ลูกค้ากลุ่มองค์กร บริษัท ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล มากันพอสมควร โดยเฉพาะวันศุกร์ วันเสาร์

ช่วงเทศกาลผลไม้เมืองจันท์ นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวในตัวเมือง มารับประทานบุฟเฟต์ผลไม้ แต่ว่าพื้นที่ปากน้ำแหลมสิงห์ นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวกินปู ดูเหยี่ยว ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งปูทะเลปากน้ำแหลมสิงห์จะเป็นอัตลักษณ์ของเมืองจันท์ มาที่นี่มี ปู กุ้ง ให้รับประทานได้ไม่อั้น ตามสโลแกน “กินปู ดูเหยี่ยว เที่ยวแหลมสิงห์”

“นักท่องเที่ยวจะมาเฉพาะวันหยุด  ทำให้การบริหารการจัดการเลี้ยงปู กุ้งค่อนข้างยุ่งยาก คือปูพอโตแล้ว ลูกค้ายังไม่มาจะไปขายที่ไหน ก็จะเกิดปัญหาการบริหารจัดการตรงนี้  ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ต้องไปพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ซึ่งพ่อค้าคนกลางเขาจะบริหารจัดการของเขา พอไม่มีลูกค้าเขาก็ไปหาที่ขายของเขา ทำให้พอช่วงเทศกาลราคาก็จะขยับขึ้น ทำให้รายเล็กอยู่ไม่ได้ รายใหญ่อยู่ได้เพราะจำนวนลูกค้าถัวเฉลี่ย เพราะโฮมสเตย์ไม่ได้กำไรมากมายร้อยละ 70-80 ต้นทุนปูกุ้ง อาหารทะเลตรงนี้ ไม่ใช่มองว่าโฮมสเตย์เกิดขึ้นเยอะแล้วกำไรเยอะด้วย”ประธานชมรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์แหลมสิงห์ กล่าว

ต้นทุนหลักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปากน้ำแหลมสิงห์ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบด้านอาหาร เพราะกำไรต่อหัวไม่มาก จะอยู่รอดได้ด้วยปริมาณนักท่องเที่ยว อาทิ โฮมสเตย์ที่รับได้ 100 คน มีนักท่องเที่ยวมา 50 คนขึ้นไปจึงจะอยู่ได้ แต่ถ้ารับ 20-30 คน ด้วยราคาวัตถุดิบเฉลี่ยต่อหัวต่อคนไม่พอค่าใช้จ่าย  

ชูจุดขาย “มาตรฐาน” สินค้าบริการตรงปก สด สะอาด อิ่มไม่อั้น

การบริหารต้นทุนการท่องเที่ยวเพื่อความอยู่รอดของโฮมสเตย์ปากน้ำแหลมสิงห์ ทางกรรมการสภาอุตสากรรมการท่องเที่ยวเมืองจันทบุรีได้วางแนวทางแก้ไขปัญหานี้ โดยเสนอเป็นวาระจังหวัดให้ส่งเสริมการเพาะพันธุ์ลูกปูทะเล  และดึงชุมชนมาร่วมเลี้ยง นอกจากนั้นร่วมส่งเสริมมาตรฐานเพื่อสร้างความแตกต่างและความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวกินปูดูเหยี่ยว ต่อชุมชนปากน้ำแหลมสิงห์แห่งนี้

นางสาวรัศมินท์ พฤกษทร นายอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า วิถีชีวิตของคนแหลมสิงห์อยู่กับป่าชายเลนและธรรมชาติ ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่ เราพยายามที่จะให้ชาวบ้านได้รักษาวิถีชีวิตของเขาที่จะอยู่กับธรรมชาติให้ได้ และก่อเกิดรายได้ เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน อย่างน้อยการที่เขารู้จักดูแลบ้านตัวเอง ดูแลสิ่งแวดล้อมบ้านตัวเองให้เกิดรายได้โดยยึดหลักตามเศรษฐกิจพอเพียง มันคือความสุขที่เขาจะหาได้และแบ่งปันผู้ที่มาเที่ยวในชุมชนแหลมสิงห์

แผนงานขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง SEDZ (SEDZ : Sufficiency Economy Development Zones) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถเลี้ยงชีพได้ในพื้นที่ ทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดอาชีพที่ยั่งยืนโดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายอรรถพล หอมเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลหนองชิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ กล่าวว่าปัญหาของชาวชุมชนคือที่พักบางแห่งทรุดโทรมไม่สามารถเข้าไปปรับปรุงได้ เพราะบางรายไม่มีโฉนด อยู่ในพื้นที่ป่า  ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการจะเข้าไปช่วยดูแลลำบาก เพราะติดกฎหมายป่าไม้ ปัจจุบันทางภาครัฐร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือขายเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ชาวบ้านทำกินบนพื้นที่นั้นได้ เพื่อพัฒนาบ่อกุ้งร้างในพื้นที่ให้สามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้โดยไม่บุกรุกป่าชายเลนเพิ่มเติม ทางด้านนายมณี รัตนสร้อย ประธานชมรมโฮมสเตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่ากลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ได้เริ่มสร้างมาตรฐานมาเรื่อยๆ จากตอนแรกที่ทำกันมาโดยไม่มีอะไรเลย ก็จะเริ่มมีใบอนุญาตรายเล็กๆ ได้ใบอนุญาตเป็นโฮมสเตย์ กลุ่มที่รับลูกค้าได้เกิน 30 คนขึ้นไปจะได้ใบอนุญาตเป็นโรงแรม ด้านบุคลากรสนับสนุนให้ได้รับการอบรมจากหน่วยราชการ ทั้งโรงพยาบาล สาธารณสุขมาช่วยพัฒนาให้มีความปลอดภัยด้านอาหาร แม้แต่กรมเจ้าท่าก็ลงมาดูแล การล่องแพเรือที่ล่องแพจะมีใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้มาท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย