เส้นทางชีวิตครอบครัวที่พลาด กับการเลี้ยงดูบุตรหลาน
ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวแม้ได้ผ่านเส้นทางชีวิตที่พลาด ก็ไม่ใช่ครอบครัวไร้คุณภาพ จากการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์ในเบื้องต้น ครอบครัวเหล่านี้มีความตั้งใจเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างจริงจังในทุกๆ ด้านมากกว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ ไม่ว่าการใช้เวลาร่วมกัน การให้คำปรึกษาการดำเนินชีวิต และการดูแลติดตามพฤติกรรมเสี่ยง กล่าวได้ว่าเส้นทางชีวิตครอบครัวเหล่านี้อาจฟื้นตัวได้เร็วและก้าวไปข้างหน้าได้ดี การด้อยค่าครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเป็นความเข้าใจผิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีนโยบายทางสังคมขจัดความคิดเช่นนี้ออกไป ในขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาใหญ่เรื่องการเกิดลดต่ำลงอย่างมาก การรณรงค์ส่งเสริมการเกิดโดยเน้นคุณภาพการเกิด บางครั้งกลับไปด้อยค่าครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยว การรณรงค์ส่งเสริมการเกิดโดยสมัครใจทำได้ทุกกรณี ไม่จำเป็นต้องยึดโยงหรือใช้คำว่า “การเกิดที่มีคุณภาพ” ซึ่งจะ “ตีตรา” ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวโดยไม่จำเป็น และทำให้การรณรงค์ส่งเสริมการเกิดของประเทศล่าช้าไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษางานวิจัยผลกระทบของประสบการณ์ของการมีครอบครัวแตกแยกของสามีหรือภรรยา ในช่วงอายุที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คือบุตรที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเหล่านั้นจะป้องกันไม่ให้เกิดการก้าวพลาดในเส้นทางชีวิต แบบเดียวกับตัวเขาไม่ให้เกิดขึ้นกับบุตร เพื่อให้บุตรได้เติบโตต่อมาอย่างรอบรู้เท่าทันชีวิต และให้เกิดโอกาสก้าวพลาดในชีวิตน้อยที่สุด ได้หรือไม่
ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ในการศึกษาครั้งนี้ คือข้อมูลจากการสำรวจของโครงการ “การสร้างครอบครัวอบอุ่นในจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อของเยาวชนในครอบครัวเปราะบาง ผ่านการใช้คู่มือ Thai Family Matters (TFM) และนวัตกรรม FFFamily” (ได้รับรองจริยธรรมการวิจัยในคน โดย คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (คจ.วปส.) หมายเลข COA. No. 2018/08-244) ช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2561 ใน 4 จังหวัด ใน 4 ภาค คือ สระบุรี อุบลราชธานี ลำพูน และสตูล ผู้เข้าเกณฑ์ในการสำรวจมีสองกลุ่ม คือ นักเรียนอายุ 12 – 14 ปี เรียนอยู่ในโรงเรียน 12 แห่ง ใน 4 จังหวัดดังกล่าว ตอบแบบสอบถามออนไลน์ด้วยตนเอง จำนวนทั้งหมด 403 ราย (จังหวัดละประมาณ 100 คน) ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ 369 ราย และพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนที่ตอบแบบสอบถาม (แบบกระดาษ หรือ paper-based) ด้วยตนเอง 372 คน ประกอบด้วยจังหวัดสระบุรี 96 คน จังหวัดอุบลราชธานี 93 คน จังหวัดลำพูน 88 คน และจังหวัดสตูล 95 คน
การดูแลบุตร/หลานโดยพ่อแม่/ผู้ปกครอง จากคำตอบของพ่อแม่ผู้ปกครอง | สถานภาพสมรส | |||||
โสด N =13 | แต่งงาน (อยู่ด้วยกัน) N = 265 | แต่งงาน (แยกกันอยู่) N = 15 | หม้าย หย่า แยก N = 50 | ไม่ตอบ N = 29 | รวม N = 372 | |
1. ปรึกษาหลักการการดำเนินชีวิต | ||||||
1.1 คุณกับบุตร/หลานมักจะนั่งคุยและปรึกษากันถึงปัญหาของเขา | 46.2 (6) | 34.3 (91) | 20.0 (3) | 52.0 (26) | 24.1 (7) | 35.8 (133) |
1.2 คุณมักจะแสดงการสนับสนุนเมื่อบุตร/หลานพูดในสิ่งที่ต้องการทำเมื่อเขาโตขึ้น | 61.5 (8) | 35.1 (93) | 40.0 (6) | 36.0 (18) | 20.7 (6) | 35.2 (131) |
1.3 คุณมักจะพูดคุยกับบุตร/หลาน เสมอๆ เกี่ยวกับค่านิยมและความเชื่อที่ครอบครัวยึดถืออยู่ | 46.2 (6) | 28.7 (76) | 33.3 (5) | 38.0 ((19) | 20.7 (6) | 30.1 (112) |
2. ใช้เวลาร่วมกัน | ||||||
2.1 คุณกับบุตร/หลาน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของครอบครัว | 38.5 (5) | 40.8 (108) | 46.7 (7) | 42.0 (21) | 31.0 (9) | 40.3 (150) |
2.2 คุณจัดสรรเวลาอยู่กับบุตร/หลาน หรือหาเวลาอยู่กับบุตร/หลาน | 53.8 (7) | 58.1 (154) | 53.3 (8) | 60.0 (30) | 27.6 (8) | 55.6 (207) |
3. การกำกับดูแลปัจจัยเสี่ยง | ||||||
3.1 คุณมักจะพูดคุยกับบุตร/หลาน ในเรื่องการคบเพื่อนและแนวทางที่จะอดกลั้นและทนต่อความกดดันต่างๆ จากเพื่อน | 61.5 (8) | 39.2 (104) | 46.7 (7) | 54.0 (27) | 20.7 (6) | 40.9 (152) |
3.2 เคยพูดคุยกับบุตร/หลานในเรื่อง เกี่ยวกับ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และยาเสพติด | 38.5 (5) | 39.6 (105) | 26.7 (4) | 54.0 (27) | 41.4 (12) | 41.1 (153) |
3.3 คุณเคยพูดคุยกับบุตร/หลาน เรื่องเกี่ยวกับ การมีแฟน | 23.1 (3) | 25.7 (68) | 6.7 (1) | 32.0 (16) | 20.7 (6) | 25.3 (94) |
3.4 คุณเคยพูดคุยกับบุตร/หลาน เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ | 23.1 (3) | 24.2 (64) | 33.3 (5) | 30.0 (15) | 20.7 (6) | 25.0 (93) |
4. สอนเรื่อง Financial Literacy | ||||||
4.1 คุณเคยพูดคุยกับบุตร/หลานเรื่องการประหยัดการออม และการใช้เงินที่ถูกต้อง | 53.8 (7) | 56.2 (149) | 40.0 (6) | 72.0 (36) | 51.7 (15) | 51.3 (213) |
4.2 คุณเคยพูดคุยกับบุตร/หลานเรื่องรายรับรายจ่ายของครอบครัวและการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ | 46.2 (6) | 33.6 (89) | 46.7 (7) | 44.0 (22) | 24.1 (7) | 35.2 (131) |
ตาราง 1 ความจริงจังของพ่อแม่/ผู้ปกครอง ในการดูแลบุตร/หลานในด้านต่างๆ แสดงโดยร้อยละที่พ่อแม่/ผู้ปกครองตอบว่า “โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทุกวัน” จำแนกตามสถานภาพการสมรสของพ่อแม่ผู้ปกครอง (N=312)
ตารางที่ 1 พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานภาพสมรส “หม้าย/หย่า/แยก” หรือพ่อหรือแม่หรือผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว จะให้ความจริงจังกับการดูแลบุตรหลานมาก โดยตอบว่าดูแล “โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทุกวัน” ในหัวข้อการดูแลต่างๆ สูงระหว่างร้อยละ 30.0 ถึง 72.0 และเมื่อดูเฉพาะหัวข้อการดูแล “โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทุกวัน” ที่มีมากกว่า 50% หรือโดยพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ หัวข้อเหล่านั้นมีความสำคัญต่อการเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างยิ่ง ได้แก่ การนั่งคุยและปรึกษากันถึงปัญหา (52.0%) การจัดสรรเวลาอยู่ด้วยกัน (60.0%) การพูดคุยในเรื่องการคบเพื่อนและแนวทางที่จะอดกลั้นและทนต่อความกดดันต่างๆ จากเพื่อน (54.0%) เรื่องการดื่มเหล้า สูบบุหรี่และยาเสพติด (54.0%) เรื่องการประหยัด การออม และการใช้เงินที่ถูกต้อง (72.0%). แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานภาพสมรส “หม้าย/หย่า/แยก” หรือพ่อหรือแม่หรือผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว ให้ความจริงจังกับการดูแลบุตรหลานมากกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานภาพสมรส “แต่งงานและอยู่ด้วยกัน” ในด้านต่างๆ ทั้ง 4 ด้าน เริ่มด้วยในด้านการให้คำปรึกษาหลักการการดำเนินชีวิต พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวมีความจริงจังในเรื่องนี้ คือ โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทุกวัน สูงถึง 52.0% เปรียบเทียบกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่แต่งงานและอยู่ด้วยกัน ซึ่งทำเรื่องนี้อย่างจริงจังน้อยกว่า คือเพียง 34.3% เท่านั้น เรื่องการใช้เวลาร่วมกัน พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวก็ทำได้มากกว่า สำหรับการกำกับดูแลปัจจัยเสี่ยง พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวทำได้มากกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่แต่งงานและอยู่ด้วยกัน อย่างเห็นได้ชัด เช่น การคบเพื่อนจะสูงถึง 54.0% มากกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่แต่งงานและอยู่ด้วยกัน โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทุกวันเพียง 39.2% สำหรับการพูดคุยกับบุตรหลานเรื่องเหล้าบุหรี่ ยาเสพติด การมีแฟน เพศสัมพันธ์ พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว ทำได้จริงจังกว่าอย่างเห็นได้ชัด และท้ายที่สุดการสอนเรื่องความรอบรู้ทางการเงิน พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวจะพูดคุยกับบุตรหลานในเรื่องการประหยัด การออม เกือบทุกวันหรือโดยส่วนใหญ่ ในระดับสูงถึง 72.0% เปรียบเทียบกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่แต่งงานและอยู่ด้วยกัน ซึ่งจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจังเพียง 56.2% เท่านั้น การพูดคุยเรื่องรายรับรายจ่ายของครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวทำได้ดีกว่าคู่สมรสและอยู่ด้วยกันอีกเช่นกัน คือ 44% เปรียบเทียบกับ 33.6% โดยสรุป พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานภาพสมรสเป็นหม้าย/หย่า/แยก มีความจริงจังในการดูแลบุตรหลานในทุกๆ ด้าน คือ ทำโดยส่วนใหญ่หรือทำเกือบทุกวัน ในระดับที่สูงกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานภาพสมรสแต่งงานและอยู่ด้วยกัน อย่างเห็นได้ชัดในทุกๆ ด้าน
การดูแลบุตร/หลานโดยพ่อแม่/ผู้ปกครอง จากคำตอบของบุตรหลาน | สถานภาพสมรส | |||||
โสด N =13 | แต่งงาน (อยู่ด้วยกัน) N = 261 | แต่งงาน (แยกกันอยู่) N = 15 | หม้าย หย่า แยก N = 51 | ไม่ตอบ N = 29 | รวม N = 369 | |
1. ปรึกษาหลักการการดำเนินชีวิต | ||||||
1.1 นั่งคุยและปรึกษากันถึง ปัญหาของเรา | 7.7 (1) | 20.7 (54) | 53.3 (8) | 21.6 (11) | 17.2 (5) | 21.4 (79) |
1.2 พูดคุยกับเรา เสมอๆ เกี่ยวกับค่านิยมและความเชื่อที่ครอบครัวยึดถืออยู่ | 0.0 (0) | 13.0 (34) | 20.0 (3) | 3.9 (2) | 10.3 (3) | 11.4 (42) |
2. ใช้เวลาร่วมกัน | ||||||
2.1 มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของครอบครัวร่วมกัน | 15.4 (2) | 25.3 (66) | 46.7 (7) | 23.5 (12) | 13.8 (4) | 24.7 (91) |
3. การกำกับดูแลปัจจัยเสี่ยง | ||||||
3.1 พูดคุยกับเรา ใน เรื่องการคบเพื่อนและแนวทางที่จะอดกลั้นและทนต่อความกดดันต่างๆ จากเพื่อน | 23.1 (3) | 15.7 (41) | 20.0 (3) | 15.7 (8) | 13.8 (4) | 16.0 (59) |
3.2 พูดคุยกับเราในเรื่อง เกี่ยวกับการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และยาเสพติด | 7.7 (1) | 7.3 (19) | 13.3 (2) | 3.9 (2) | 6.9 (2) | 7.0 (26) |
3.3 พูดคุยกับเรา ในเรื่องเกี่ยวกับการมีแฟน | 15.4 (2) | 5.7 (15) | 0.0 (0) | 0.0 (0) | 6.9 (2) | 5.1 (19) |
3.4 พูดคุยกับเรา ในเรื่องเกี่ยวกับเพศและการมีเพศสัมพันธ์ | 0.0 (0) | 3.4 (9) | 0.0 (0) | 0.0 (0) | 3.4 (1) | 2.7 (10) |
4. สอนเรื่อง Financial Literacy | ||||||
4.1 พูดคุยกับเราเรื่องการประหยัดการออม และการใช้เงินที่ถูกต้อง | 30.8 (4) | 28.7 (75) | 20.3 (3) | 31.4 | 17.2 (5) | 27.9 (103) |
4.2 พูดคุยกับเราเรื่องรายรับรายจ่ายของครอบครัวและการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ | 0.0 (0) | 14.2 (37) | 13.3 (2) | 11.8 (6) | 6.9 (2) | 12.7 (47) |
ตาราง 2 ความคิดเห็นต่อความจริงจังของพ่อแม่/ผู้ปกครอง ในการดูแลบุตร/หลานในด้านต่างๆ แสดงโดยร้อยละที่บุตรหลานตอบว่า “โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทุกวัน” จำแนกตามสถานภาพการสมรส ของพ่อแม่ผู้ปกครอง (N=369)
ตารางที่ 2 แสดงถึงความจริงจังของพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานในด้านต่างๆ จำแนกตามสถานภาพสมรสของพ่อแม่ผู้ปกครอง ในตารางนี้จึงเป็นมุมมองของบุตรหลานเอง จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับตาราง 1 โดยรวมบุตรหลานเห็นความจริงจังของพ่อแม่ผู้ปกครองน้อยกว่า สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองกล่าว นอกจากนั้น บุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานภาพสมรสหม้าย/หย่า/แยก เปรียบเทียบกับบุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานภาพสมรสแต่งงานและอยู่ด้วยกัน มีความแตกต่างกันบ้างเท่านั้น และไม่ชัดเจน หรือคงเส้นคงวา เหมือนการศึกษาจากพ่อแม่ผู้ปกครองในตารางที่ 1 ในบางเรื่อง เช่นการพูดคุยกันเรื่องการประหยัดและการออม บุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวมีความเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของเขามีความจริงจังในเรื่องนี้ มากกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของบุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานภาพสมรสแต่งงานและอยู่ด้วยกัน เล็กน้อยคือ 31.4% เปรียบเทียบกับ 28.7% โดยส่วนใหญ่แล้วบุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวมักจะมีความเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของเขามีความจริงจังในการดูแลเขาไม่สูงนัก บุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครองที่แต่งงานและอยู่ด้วยกัน มีความเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของเขามีความจริงจังในการดูแลเขาสูงกว่าเล็กน้อย โดยสรุปเมื่อดูจากความคิดเห็นของบุตรหลาน ไม่พบว่าบุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวจะคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของตนดูแลตนอย่างจริงจังมากนัก ระดับความจริงจังในด้านต่างๆ จากความบอกเล่าของบุตรหลานมีน้อยกว่าจากคำบอกเล่าของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งสองกลุ่ม และความแตกต่างทางสถานภาพสมรสก็มีไม่มากนัก
ความต้องการการดูแลจากพ่อแม่/ผู้ปกครองในด้านต่างๆ | สถานภาพสมรส | |||||
โสด N =13 | แต่งงาน (อยู่ด้วยกัน) N = 261 | แต่งงาน (แยกกันอยู่) N = 15 | หม้าย หย่า แยก N = 51 | ไม่ตอบ N = 29 | รวม N = 369 | |
1. ปรึกษาหลักการการดำเนินชีวิต | ||||||
1.1 พูดคุยในเรื่องทั่วไปหรือปัญหาที่เกี่ยวกับ ตัวคุณ | 76.9 (10) | 71.6 (187) | 60.0 (9) | 66.7 (34) | 62.1 (18) | 69.9 (258) |
1.2 พูดคุยเกี่ยวกับค่านิยมและความเชื่อที่ครอบครัวยึดถืออยู่ | 61.5 (8) | 73.2 (191) | 86.7 (13) | 72.5 (37) | 62.1 (18) | 72.4 (267) |
2. ใช้เวลาร่วมกัน | ||||||
2.1 คุณกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมในการ ทำกิจกรรมต่างๆของครอบครัว | 92.3 (12) | 88.5 (231) | 86.7 (13) | 92.2 (47) | 89.7 (26) | 89.2 (329) |
3. การกำกับดูแลปัจจัยเสี่ยง | ||||||
3.1 พูดคุยในเรื่องการคบเพื่อนและการ อดกลั้นจากแรงกดดันต่างๆ จากเพื่อน | 53.8 (7) | 65.5 (171) | 73.3 (11) | 72.5 (37) | 41.4 (12) | 64.5 (238) |
3.2 พูดคุยกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง ในเรื่องเกี่ยวกับการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และยาเสพติด | 38.5 (5) | 43.3. (113) | 40.0 (6) | 49.0 (25) | 51.7 (15) | 44.4 (164) |
3.3 พูดคุยกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง ในเรื่องเกี่ยวกับการมีแฟน | 30.8 (4) | 43.3 (113) | 46.7 (7) | 39.2 (20) | 31.0 (9) | 41.5 (153) |
3.4 พูดคุยกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง ในเรื่องเกี่ยวกับเพศ และการมีเพศสัมพันธ์ | 23.1 (3) | 36.4 (95) | 26.7 (4) | 23.5 (12) | 24.1 (7) | 32.8 (121) |
ตาราง 3 ร้อยละของบุตรหลานที่มีความต้องการการดูแลจากพ่อแม่/ผู้ปกครองในด้านต่างๆ จำแนกตามสถานภาพการสมรสของพ่อแม่/ผู้ปกครอง (N=369)
ตารางที่ 3 จะเห็นได้ว่า บุตรหลานมีความต้องการความช่วยเหลือและความเอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครองในระดับสูงมาก เกินกว่าครึ่งหนึ่งต้องการการใช้เวลาร่วมกัน (89.2%) และการให้คำปรึกษาหลักการในการดำเนินชีวิต (69.9% – 72.4%) นอกจากนี้ บุตรหลานส่วนใหญ่ยังต้องการการพูดคุยเรื่องการคบเพื่อน (64.5%) บุตรหลานบางส่วนต้องการการพูดคุยเรื่องเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การมีแฟนและเรื่องเกี่ยวกับเพศ (32.8% – 44.4%) เมื่อเปรียบเทียบตามสถานภาพสมรสพบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก ที่พอเห็นได้คือ การใช้เวลาร่วมกันและการพูดคุยเรื่องการคบเพื่อน บุตรหลานของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานภาพหม้าย/หย่า/แยก มีความต้องการมากกว่า และในทางกลับกันความต้องการการปรึกษาหลักการในการดำเนินชีวิตมีน้อยกว่าครอบครัวที่อยู่ด้วยกันสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามบุตรหลานในวัยนี้โดยรวมแล้ว ข้อมูลได้ชี้ให้เห็นว่าเป็นวัยที่เปราะบางและต้องการการเอาใจใส่เลี้ยงดูที่จริงจัง โครงการสร้างเสริมครอบครัวเข้มแข็งในวัยนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าครอบครัวเหล่านั้นจะมีลักษณะใด
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้พยายามเปลี่ยนผ่านจากสังคมชะลอการเกิด ไปสู่สังคมส่งเสริมการเกิด แต่ยังไม่สมบูรณ์ ยังจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการเกิดในทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เช่นไม่ควรมีการ “ตีตรา” ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวโดยไม่จำเป็น นโยบายประชากรคงไม่ใช่แค่ pronatalist policy ที่จะสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับการเกิด แต่ควรจะแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม สถาบันครอบครัวและกรอบแนวคิดและทัศนคติทั้งหมดด้วย disruptive pronatalist policy เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
เอกสารอ้างอิง
Hoegl, M., & Hartmann, S. (2021). Bouncing back, if not beyond: Challenges for research on resilience. Asian Business & Management, 20, 456–464.
Richardson, G. E. (2002). The metatheory of resilience and resiliency. Journal of Clinical Psychology, 58(3), 307–321.
Amato, P. R., & Cheadle, J. E. (2008). Parental divorce, marital conflict and children’s behavior problems: A comparison of adopted and biological children. Social Forces, 86(3), 1139-1161.
McLanahan, S., & Sandefur, G. D. (2009). Growing up with a single parent: What hurts, what helps. Harvard University Press. Scott, J. (2004). Family, gender, and educational attainment in Britain: A longitudinal study. Journal of Comparative Family Studies, 35:565–589.
American Psychological Association. (2014). The road to resilience. American Psychological Association. DC: Washington.
Ungar, M. (2011). The social ecology of resilience: Addressing contextual and cultural ambiguity of a nascent construct. American Journal of Orthopsychiatry, 81(1), 1-17.
Ungar, M. (Ed.). (2012). The social ecology of resilience: A handbook of theory and practice. New York: Springer
Southwick, S.M., Douglas-Palumberi, H., & Pietrzak, R.H. (2014). Resilience. In M.J. Friedman, P. Resick, & T.M. Keane (Eds.), Handbook of PTSD: Science and practice (2nd ed., pp. 590-606). New York: Guilford Press.