Saturday, September 21, 2024
Latest:
ประชาสัมพันธ์

บี.กริม ร่วมกับ “สยามสมาคมฯ” ลงนาม MOU สานต่อความร่วมมือ สนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ความรู้ และภูมิปัญญา

บี.กริม องค์กรที่อยู่เคียงคู่สังคมไทย จากรากฐานปรัชญาการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีเพื่อสร้างความศิวิไลซ์ ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ฉลองครบรอบการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยปีที่ 145 ด้วยการลงนามความร่วมมือกับสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กรด้านวัฒนธรรมที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะมาอย่างยาวนาน โดยจัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความรู้ และภูมิปัญญา ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องในปี 2566 ในวันที่ 13 มกราคม 2566 ณ หอประชุมของสยามสมาคม ฯ ถนนอโศกมนตรี

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ บี.กริม จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสยามสมาคมฯ ตลอดปี 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนา และขับเคลื่อนงานด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความรู้ และภูมิปัญญา ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล ให้เกิดการต่อยอดและสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศในวงกว้าง

ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา บี.กริม ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสยามสมาคมฯ มาอย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับไปเมื่อ 44 ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยของ มร. เฮอร์เบิร์ต ลิงค์ ผู้บริหาร บี.กริม รุ่นที่ 2 และภรรยา คุณหญิง อัลม่า ลิงค์ ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนมรดกในการช่วยเหลือสังคมที่สืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดกภูมิปัญญาของ บี.กริม ในการทำสิ่งที่ดีและแบ่งปันกับผู้อื่น ตลอดจนค่านิยมองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในโครงการที่ บี.กริม ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 คือ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง (Save the Tigers)  เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือในผืนป่า และปลูกจิตสำนึกให้แก่เด็กและเยาวชน เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพื่อความยั่งยืนอื่นๆ  อาทิ โครงการสนับสนุนทางด้านวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน

“เป็นภูมิปัญญาที่เราได้รับจากบรรพบุรุษ ในการนำสิ่งดีๆ มาสู่ประเทศนี้ผ่านการดำเนินธุรกิจ การให้ความช่วยเหลือ และการสนับสนุนสิ่งต่างๆ พร้อมเดินหน้าส่งเสริมคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ บี.กริม ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

ภายใต้การลงนามเอ็มโอยูระหว่าง บี.กริม และสยามสมาคมฯ ตลอดปี 2566 ล่าสุด สยามสมาคมฯ และเครือข่ายมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดการประชุมระดับภูมิภาค หัวข้อ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อรับมือภาวะโลกรวน: การมีส่วนร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ระหว่างวันที่ 12 – 14 มกราคม พ.ศ. 2566 ณ หอประชุมของสยามสมาคม ฯ ภายใต้การสนับสนุนของ บี.กริม ซึ่งได้รวบรวมนักวิชาการและคนรุ่นใหม่ 36 คน จากทุกประเทศอาเซียน มาถ่ายทอดความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยมี ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากร

โดยเนื้อหาจากงานสัมมนาในครั้งนี้ จะมีการรวบรวมเป็นหนังสือและส่งให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ รวมทั้ง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เพื่อเป็นข้อเรียกร้องจากภาคประชาชน เรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามบริบทของภูมิภาคต่อไป

“ผมได้เห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศมากขึ้นและมากขึ้น และผลกระทบนี้มีต่อคนทุกคนทั่วโลก ทั้งในระดับสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนทุกสาขาอาชีพ นี่คือปัญหาของโลก และสิ่งนี้จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนร่วมมือกัน ทุกวันนี้เรากำลังเผชิญกับกระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ ขณะที่ความร่วมมือระดับภูมิภาคจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญคือ เยาวชน ซึ่งเปรียบเสมือนเสียงแห่งอนาคตของเรา ผู้ที่จะกำหนดรูปร่างของอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ นายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สยามสมาคมฯ ได้จัดงานครั้งนี้เพื่อตอบคำถามที่ว่า เราจะปรับใช้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของเราชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานคิดและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างไร โดยการสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะพาทุกคนมองย้อนกลับไปยังความรู้ดั้งเดิมแล้ว ยังมีเยาวชนแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะแสดงความเอาใจใส่ในวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแสดงวิสัยทัศน์เพื่อโลกใบนี้ ที่เขาจะต้องรับช่วงดูแลต่อไปด้วย

“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักว่ามรดกวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นคลังอาวุธทางปัญญาที่ถูกมองข้ามไป เราจะสร้างกลยุทธ์ของประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากมรดกภูมิปัญญาที่เรามีอย่างไร” นางพิไลพรรณ กล่าว

สำหรับรูปแบบการจัดประชุมเป็นการผสมผสานความเป็นวิชาการเข้ากับพลังความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนจากทุกประเทศอาเซียน ที่ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มย่อยตามหัวข้อที่ตนเองสนใจตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา โดยพวกเขาจะแสดงผลงานและข้อเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในเวทีนี้ร่วมกัน