Sunday, May 12, 2024
Latest:
ประชาสัมพันธ์

สสว. และ วว. ร่วมหารือ DG Grow ที่เบลเยี่ยม สร้างเครือข่ายนานาชาติ หนุนศักยภาพผู้ประกอบการไทย

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผนึกพลังสร้างสัมพันธ์เครือข่ายนานาชาติ หนุนเสริม SME ไทย นำคณะหารือกับ DG Grow องค์กรส่งเสริมผู้ประกอบการ SME สหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน รวมถึงแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันในอนาคต นำสู่การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยต่อไป

คณะผู้เดินทางเมื่อเร็วๆ นี้ ประกอบด้วย  รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงาน และนายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ร่วมด้วย ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ และ ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), นางสาวพัชรมณฑ์ ศิริวัฒนา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายสหภาพยุโรป)สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมตลอดจนคณะเจ้าหน้าที่ โดยมี Mr. Serafin Sanchez Gonzalez, Policy Officer at European Commission, Mrs. Lucyna Kaminska, Policy Officer at European Commission และ Ms. TANEVA Albena, Administrator of Access to finance at European Commission ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

ก่อนเริ่มประชุมหารือMr.Serafin Sanchez Gonzalez ได้กล่าวต้อนรับคณะ สสว. และวว. รู้สึกยินดีที่คณะจากประเทศไทยได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบายและแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย พร้อมแนะนำทีมงาน DG Grow จากนั้น รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ได้แนะนำคณะผู้บริหาร และการทำงานของหน่วยงาน

Mrs.Lucyna Kaminska ได้เริ่มต้นแนะนำเกี่ยวกับ DG Grow และนโยบายการส่งเสริมผู้ประกอบการว่า SME ของสหภาพยุโรปหรืออียู โดยมีนิยามของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของสหภาพยุโรป คือ มีจำนวนพนักงาน 10-250 คน และจะต้องมีผลประกอบการ 2- 50 ล้านยูโร

Mrs.Lucyna เล่าถึงความสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต่อเศรษฐกิจสหภาพยุโรปว่า “ขณะนี้มีผู้ประกอบเอสเอ็มอี จำนวน 24,281,159 ราย ในสหภายุโรป คิดเป็นร้อยละ 99.8 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 64.4 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 3,945.8 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 51.8 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ”

สำหรับการดำเนินงานด้านนโยบายสงเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะศึกษาในปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ประสิทธิผลในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุโรป การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินงานตาม Green Market นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการชำระเงินล่าช้าของผู้ประกอบการด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระภาษี โดยจะมุ่งเน้นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถชำระเงินให้ตรงเวลา ซึ่งขณะนี้ ยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งผู้ตรวจสอบโดยใช้บุคคลที่ 3

ในส่วนของอุตสาหกรรม สหภาพยุโรป ได้มุ่งเน้นในการ ecosystem ให้กับ 14 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ หรือ 99% เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตัวอย่างเช่น ด้านอาหารและการเกษตรด้านดิจิทัล ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการใช้พลังงาน ด้านสุขภาพ ด้านการขนส่ง ด้านการท่องเที่ยว ด้านสิ่งทอ โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการส่งเสริมการเปลี่ยนแทนในด้านของสิ่งแวดล้อม (Green) และดิจิทัล (Digital) ที่เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรม

การดำเนินงานของ DG GROW จะดำเนินงานผ่านเครือข่ายของสหภาพยุโรป ไม่ประสานกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรง โดยสหภาพจะมีทิศทางหรือนโยบายที่ชัดเจน เช่น ประสานกับ European Association for SME เป็นต้น โดยจะดำเนินงานในหลายรูปแบบทั้งการศึกษาดำเนินงานและผลการดำเนินงานต่างๆ  การจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งการประสานความร่วมมือด้านเอสเอ็มอีกับทางอาเซียนหรือประเทศไทย สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการแล้วกับหลายประเทศเช่น ประเทศจีน อินเดีย เป็นต้น

บรรยากาศการประชุมหารือเป็นไปด้วยความอบอุ่น และมีมิตรไมตรี นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในภารกิจการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติ เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานระหว่างกันในอนาคต สู่การพัฒนาเพื่อยกศักยภาพ SME ไทย อย่างยั่งยืนต่อไป