Wednesday, October 16, 2024
Latest:
ประชาสัมพันธ์

สสว. เผย ความคืบหน้าแคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” SME ทั่วไทย เชื่อมั่น ใช้บริการ และมีรายใหม่สมัครเข้าร่วมโครงการคับคั่ง

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผู้ประกอบการ รับสมัครผู้ประกอบการ SME เพื่อขึ้นทะเบียนการได้รับบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ หรือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีการเลือกใช้บริการบนระบบ BDS ภายใต้ “โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2566” ภายใต้แคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” รายงานความคืบหน้าการให้บริการแก่ผู้ประกอบการจากทั่วประเทศที่ได้ยื่นใบสมัครร่วมโครงการ เชื่อมั่น สสว.จะช่วยยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งจนเติบโตสู่สากล พร้อมหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต มั่นคง ยั่งยืน

นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมา สสว. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านระบบ BDS หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” ปี 2565 เพื่อให้ MSME ได้รับการพัฒนาธุรกิจของตน ในรูปแบบที่สามารถเลือกรับบริการที่ตรงตามความต้องการของตน ภายในหน่วยให้บริการต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน สำหรับปี 2566 นี้ สสว. ได้สานต่อแคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” โดยมีการปรับรูปแบบการดำเนินการให้สะดวกขึ้น หลากหลายขึ้น และมุ่งเป้ามากขึ้น มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานในทุกธุรกิจให้เทียบเท่าสากล เพื่อธุรกิจจะเข้มแข็ง พร้อมหนุนเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง เติบโต มั่นคง อย่างยั่งยืนต่อไป”

นายวชิระ เผยด้วยว่า สำหรับการสนับสนุน/อุดหนุน ผู้ประกอบการ ในปีงบประมาณ 2566 จะมีการพิจารณาให้สอดคล้องกับนิยาม SME ที่ สสว. กำหนด ดังนี้ วิสาหกิจรายย่อย คือ ระดับ Micro รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท หากเป็น size S หรือ Small เราปรับในภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ภาคการค้าการบริการ รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วน Medium หรือ size M ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ภาคการค้า ภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท ทั้งนี้ สสว.จะมีการปรับสถานะตามรายได้ ณ ปีปัจจุบันคือ 2565 ถ้าผู้ประกอบการส่ง ภ.ง.ด อัปเดตปีล่าสุดมา สสว.จะใช้นิยามนี้ ในการจัดกลุ่ม ซึ่งถ้าผู้ประกอบการรายเดิมไม่ได้ยื่นอัปเดต หรือยื่นสถานะ ก็ยังสามารถใช้สัดส่วนเงินเดิมได้ แต่ถ้าอัปเดตมา สสว.จะปรับขนาดให้ แต่ 1 ราย ยังคง 5 แสนบาทเหมือนเดิม”

สำหรับการให้บริการผ่าน หน่วยพันธมิตรให้บริการ หรือ BDSP ในสาขาต่างๆ ยังคงได้รับความสนับสนุนมากมาย อาทิ สถาบันสิ่งทอ สถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สถาบันไทย-เยอรมัน กรมขนส่งทางบก สถาบันสิ่งทอ สมาพันธ์ SME ไทย

รอง ผอ.สสว. เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการให้บริการ ในปัจจุบัน สามารถแบ่งหมวดบริการ ในระบบให้บริการและสรุปผลการให้บริการทางธุรกิจ (SME Service Provider) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบนระบบ BDS ดังนี้ หมวดบริการด้านการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ จำนวน 2 บริการ, บริการด้านพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ จำนวน 1 บริการ, บริการด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน จำนวน 195 บริการ, บริการด้านช่องทางการจำหน่ายและตลาดในประเทศ จำนวน 14 บริการ และบริการด้านการพัฒนาตลาดต่างประเทศ จำนวน 8 บริการ รวมให้บริการทั้งสิ้น จำนวน 220 บริการ

“อยากฝากถึง ผู้ประกอบการทุกท่าน ที่เข้ามาใช้บริการ อยากให้ท่านกรอก SME ONE ID ให้ครบทุกรายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อทาง สสว.จะได้รวบรวม เป็นฐานข้อมูล นำมาปรับปรุงและพัฒนาบริการของเราให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการให้มากที่สุด และพึงพอใจสูงสุด” นายวชิระ กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการทั่วประเทศ ที่สนใจจะสมัครรับความสนับสนุนจากโครงการฯ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-298-3051 หรือ 085-836-6963 และ https://bds.sme.go.th/