ประชาสัมพันธ์

ทีเส็บ ปั้นโครงการ MICE Coffee Break ชุมชน ภาคกลางและภาคตะวันออก พลิกโฉมเมนูอาหารว่างจากวัตถุดิบประจำถิ่น สู่เมนูสร้างสรรค์

ทีเส็บ ปั้นโครงการ MICE Coffee Break ชุมชน ภาคกลางและภาคตะวันออก พลิกโฉมเมนูอาหารว่างจากวัตถุดิบประจำถิ่น สู่เมนูสร้างสรรค์ “MICE Coffee Break ชุมชน” เปิดประตูชุมชนสู่โอกาสใหม่ในธุรกิจการจัดประชุมสัมมนา

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า โครงการ MICE Coffee Break ชุมชน ภาคกลางและภาคตะวันออก ปี 2567 มีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเมนูอาหารพื้นบ้านที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยร่วมกับชุมชนนำเอาวัตถุดิบมารังสรรค์เมนูใหม่ยกระดับสู่อุตสาหกรรมไมซ์ เป็นเมนู MICE Coffee Break ชุมชน เพื่อการจัดประชุมสัมมนา สร้างโอกาสให้ชุมชนในภูมิภาคของประเทศไทย สามารถก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่ธุรกิจอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ได้อย่างมีคุณภาพ สร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยในภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ปี 2567 เติบโตกว่า 5% มีนักเดินทางไมซ์ กว่า 25,350,288 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักเดินทางไมซ์ 148,341 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศ 1,160,569 คน สร้างรายได้ 69,594 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 24,189,719 คน สร้างรายได้ 78,747 ล้านบาท สำหรับปี 2568 ทีเส็บ มีแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย พัฒนา “แบรนด์ประเทศไทย” ในฐานะ “จุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง” (High Value-Added MICE Destination) โดยนำ “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) มาช่วยยกระดับประสบการณ์ให้กลุ่มนักเดินทางไมซ์ ซึ่งทีเส็บได้กำหนดเป้าหมายสิ้นปีงบประมาณ 2568 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์ทั้งต่างประเทศและในประเทศ รวมทั้งสิ้น 34,000,000 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักเดินทาง 200,000 ล้านบาท

การดำเนินโครงการ MICE Coffee Break ชุมชน ภาคกลางและภาคตะวันออก ประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย ตั้งแต่การคัดเลือกเฟ้นหาชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาเกณฑ์และคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาอาหารและไมซ์ มีวิสาหกิจชุมชนสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 75 ชุมชน ผ่านเกณฑ์คัดเลือกเบื้องต้น จำนวน 60 ชุมชน จาก 20 จังหวัด และมีการจัดสัมภาษณ์คัดเลือกชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 โดยมีวิสาหกิจชุมชนผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 35 ชุมชน จาก 15 จังหวัด ทั้งจากภาคกลางและภาคตะวันออก รวมจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 89 คน ประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้

1) กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการพัฒนาเมนู Coffee Break เพื่อการประชุม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 พฤศจิกายน 2567 เพื่อสร้างองค์ความรู้และทักษะในการยกระดับเมนูอาหารว่างท้องถิ่นสู่เมนู MICE Coffee Break เพื่อการประชุม โดยมีเนื้อหาครอบคลุม ความเข้าใจในอุตสาหกรรมไมซ์ การถ่ายทอดเรื่องราว (Storytelling) การทำการตลาดและสร้างแบรนด์ เทคนิคการเจรจาธุรกิจ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาหาร การจัดและประดับตกแต่งเมนูอาหารว่าง การบริหารจัดการต้นทุนและการตั้งราคา การยืดอายุผลิตภัณฑ์อาหาร มาตรฐานอาหารปลอดภัย เป็นต้น

2) กิจกรรมการประกวดแข่งขัน MICE Coffee Break ชุมชน ภาคกลางและภาคตะวันออก จัดขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดเมนูอาหารว่าง MICE Coffee Break มีวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ สมัครเข้าแข่งขัน จำนวน 30 ชุมชน โดยคณะกรรมการตัดสินเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากอุตสาหกรรมไมซ์ อุตสาหกรรมอาหาร และกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารระดับประเทศ ประกอบด้วย รางวัล MICE Coffee Break ชุมชน ประเภท Excellence Award 2024 จำนวน 1 รางวัล ซึ่งได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี จากเมนูขนมดอกมะพร้าว

และรางวัล MICE Coffee Break ชุมชน ประเภท Best Award 2024 จำนวน 4 รางวัล ซึ่งได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท ได้แก่ (1.) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรบ้านตม จังหวัดชลบุรี จากเมนูเฟื่องสุข (2.) วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเมืองสาปยา จังหวัดชัยนาท จากเมนูมัจฉาหมี่กรอบ (3.) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกแตงโม และผักผลไม้ปลอดสาร จังหวัดชลบุรี จากเมนู Melon Romance และ (4.) วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา จังหวัดระยอง จากเมนูเกสรซ่อนกาย

3) กิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดเจรจาธุรกิจ (Business Matching) จัดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 จับคู่ธุรกิจระหว่างวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 33 ชุมชน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ ช่วยสร้างโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดและสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต โดยมีผู้ประกอบการจากหน่วยงานภาคเอกชน สมาคม และธุรกิจโรงแรมและที่พัก เข้าร่วมกว่า 40 ราย เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจ จำนวน 218 คู่ธุรกิจ ประมาณการมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการจองซื้อเมนู MICE Coffee Break วัตถุดิบท้องถิ่น และการใช้บริการที่เกี่ยวเนื่อง คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3 ล้านบาท

โครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในการพัฒนาวัตถุดิบและเมนูอาหารพื้นบ้านที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล บนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ ความปลอดภัยทางอาหาร ความสม่ำเสมอ และการยกระดับสู่ธุรกิจบริการอาหารมืออาชีพ ถือเป็นการนำกลยุทธ์ “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) พร้อมเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดกับภาคธุรกิจการจัดงานประชุมสัมมนาหรืออุตสาหกรรมไมซ์ เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโต สร้างงาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้ในที่สุด” นายจิรุตถ์ กล่าว

ด้าน ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงการดำเนินงานภายใต้โครงการบูรณาการเพื่อยกระดับวัตถุดิบและวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านชุมชนสู่เมนู Coffee Break เพื่อการประชุม (MICE Coffee Break ชุมชน) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และผลผลิตของโครงการ ผ่านการนำเสนอเอกลักษณ์และความหลากหลายของวัตถุดิบท้องถิ่น มานำเสนอเป็นเมนูอาหารว่างท้องถิ่น MICE Coffee Break มาผสานเข้ากับมาตรฐานปรุงที่สม่ำเสนอ การบริการบนมาตรฐานความปลอดภัยและสุขลักษณะทางอาหารได้อย่างลงตัว พร้อมทั้งสร้างสรรค์แนวทางที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการขยายธุรกิจ โดยการจัดหลักสูตรการประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราว (Storytelling) การจัดจานและกล่องอาหาร การจัดทำคู่มือมาตรฐานเชิงปฏิบัติการ (Standard Operation Procedure, SOP) เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของการปรุงอาหารว่างในทุกเมนู พร้อมทั้งเรียนรู้การบริหารจัดการต้นทุนและการตั้งราคา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ ต่อยอดสู่แนวทางการแปรรูปให้สามารถยืดอายุเป็นของขวัญของฝากได้อย่างมีมาตรฐาน ความปลอดภัยอาหาร

“นอกจากวิสาหกิจชุมชนจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากโครงการนี้แล้ว จากกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จัดประชุมเสวนา ผู้ประกอบการด้านธุรกิจบริการ ร้านอาหาร โรงแรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นโอกาสที่ดีที่หลายภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของธุรกิจชุมชน ร่วมกันสร้างสรรค์ สร้างโอกาสใหม่ๆ ต่อยอดขยายเครือข่ายธุรกิจของชุมชนที่มีให้มีความเข้มแข็งและมีมาตรฐานสากล สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมไมซ์ได้สำเร็จตามเป้าหมายของโครงการฯ” ดร.ศุภวรรณ กล่าว

โครงการ MICE Coffee Break ชุมชนภาคกลางและภาคตะวันออก ยังได้มีการจัดทำ Guideline book เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในการสร้างเมนูอาหารว่างเพื่อการประชุม MICE Coffee Break เพื่อใช้ในการต่อยอดให้แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถแข่งขันในตลาดไมซ์ ทั้งในและต่างประเทศ การสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารช่วยสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ทั้งยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและการรับรู้ถึงคุณค่าของวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นต่อไป