รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พันตํารวจเอก ทวี สอดส่อง มอบนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับ คณะผู้นำตำบลอาสา แก้ปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ภาคประชาชน จำนวน 60 ตำบล 120 คน
คณะศึกษาดูงานชุมชนต้นแบบแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จ.นนทบุรี และลพบุรี พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมคารวะตลอดจนรับมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เม.ย.2567 เวลา 1400 คณะตำบลอาสาแก้ปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ 60 ตำบล ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ตำบลท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นตำบลแก้ปัญหายาเสพติดต้นแบบ จากนั้นได้เข้าเยี่ยมคารวะ พร้อมรับมอบนโยบายจาก รมว.ยธ. ณ.กระทรวงยุติธรรม
จากนั้นเวลา ๑๖.๐๐ น. พันตํารวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับคณะประชาชนอาสาแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 120 คนโดยมี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรี พลเอก วิชาญ สุขสง หัวหน้าคณะทำงานแก้ปัญหายาเสพติด จังหวัดชายแดนใต้ภาคประชาชน กระทรวงยุติธรรม พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นางเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องสนฉัตร ชั้น ๓ อาคารกระทรวงยุติธรรม
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ปัญหายาเสพติดยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในจังหวัดชายแดนใต้ นักโทษส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ มาจากคดียาเสพติด นอกจากนี้ยังพบว่า นักโทษที่ติดยาเสพติดส่วนใหญ่เรียนต่ำกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากจะแก้ปัญหายาเสพติด ต้องเริ่มจากการให้คนมีการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ อย่างน้อย ม.๖ โดยมาตรา ๔๒ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ สั่งให้ทางเรือนจำจัดการศึกษาแก่นักโทษ เพื่อให้จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะหากไม่มีการศึกษาก็ไม่มีอาชีพ และทำให้คนเหล่านั้นหันมาเสพยาเสพติด นอกจากนี้ ยาเสพติดยังทำลายร่างกาย สติปัญญา ทรัพย์สิน เกียรติยศ และศาสนาอีกด้วย
พร้อมทั้งได้กล่าวถึงเรื่องที่อยากจะยกระดับและขับเคลื่อนในระหว่างที่เข้ามารับใช้ประชาชน คือ ๑) การแก้ปัญหายาเสพติด ๒) ขจัดผู้มีอิทธิพล และ ๓) เอาชนะความยากจน โดยกระทรวงยุติธรรมพร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเสริม เพื่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง ลดยาเสพติดในชุมชน และทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ยาเสพติดนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก อยากให้ชุมชนมาร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหาเสพติดด้วยกัน และพร้อมรับมือในการต่อสู้กับยาเสพติดในชุมชน เพราะนอกจากยาเสพติดจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้เสพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว คนใกล้ชิด และชุมชนอีกด้วย เพราะปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้เดินหน้าแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติดในขณะนี้ นอกเหนือจากการจับกุม คือ การบำบัดและดูแล เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน รวมถึงจำเป็นต้องมีการจัดหางานฝึกทักษะวิชาชีพให้แก่ผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติด โดยเน้นการเข้าถึงชุมชน หมู่บ้าน ดูแลกลุ่มเสี่ยงยาเสพติด โดยใช้ความเข้าใจในสภาพพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรม