ประชาสัมพันธ์

UNFPA ประเทศไทย จัดงานฉลองวันประชากรโลก เปิดตัวรายงาน “The Real Fertility Crisis”

UNFPA ประเทศไทย จัดงานฉลองวันประชากรโลก พร้อมเปิดตัวรายงานประชากรล่าสุด “The Real Fertility Crisis” ชี้ถึงข้อท้าทายและเน้นย้ำความสำคัญของสิทธิและทางเลือกเพื่อแก้วิกฤตประชากร

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประเทศไทย จัดงานเฉลิมฉลองวันประชากรโลก UNFPA State of World Population (SWP) Report Launch towards the World Population Day 2025: Celebration Advancing Rights and Choices for Everyone – Shaping a Sustainable Future เพื่อสิทธิและทางเลือกของประชากรทุกคน สร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน พร้อมทั้งเปิดตัวรายงานสถานการณ์ประชากรโลก ประจำปี 2025 ซึ่งมีชื่อว่า The Real Fertility Crisis ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเยาวชน

วันประชากรโลกซึ่งตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นเวทีสำคัญในการทบทวนประเด็นด้านประชากรและตอกย้ำพันธสัญญาระดับโลกต่อสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ (Sexual and Reproductive Health and Rights หรือ SRHR) โดยงานเฉลิมฉลองในปีนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปิดตัวรายงานประชากรปีล่าสุด ซึ่งเปิดเผยข้อค้นพบที่สำคัญว่า ความท้าทายด้านประชากรที่แท้จริงนั้นไม่ใช่อัตราการเกิดที่ลดลง หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะเยาวชนและผู้หญิงนั้นยังไม่สามารถตัดสินใจหรือปฏิบัติตามความต้องการในการมีบุตรได้อย่างเสรี

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ UNFPA ในระดับโลกได้จัดทำรายงานประชากร โดยสํารวจใน 14 ประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในการสำรวจระดับโลกครั้งนี้ โดยเน้นประเด็นเกี่ยวกับความต้องการมีบุตร ซึ่งน่าแปลกใจว่าผู้ที่ตอบคําถามส่วนใหญ่นั้นอยากมีบุตร แต่ตัดสินใจว่ายังไม่มีบุตรหรือชะลอการมีบุตรไปก่อน ทั้งนี้ แนวทางของ UNFPA ในการแก้วิกฤติประชากรนั้นไม่เน้นตัวเลขว่าปริมาณการเกิดจะมากหรือน้อย แต่เน้นเรื่องของสิทธิและทางเลือกของเจ้าตัวที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศ LGBTQAI+ ควรจะมีสิทธิในการตัดสินใจเนื้อตัวร่างกายของตัวเองว่าอยากมีบุตรหรือไม่ มีกับใคร มีเมื่อไหร่ และมีกี่คน โดยมีการสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐและภาคเอกชนสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออํานวยให้แต่ละคนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น อาทิ วันลาคลอด ห้องเลี้ยงเด็กในบริษัทเอกชนห้างร้าน ความเสมอภาคทางเพศ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังต้องมีการดูแลเรื่องกฎหมายในการรองรับสิทธิของเด็กที่จะเกิดมาในครอบครัวหลากหลายรูปแบบหลังจากที่ประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว

“เด็กและเยาวชนคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เราอยากจะเสริมพลังให้เขามีความรู้ในเรื่องสิทธิทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้เขาเข้าใจว่าถ้ายังไม่พร้อมจะมีบุตร ทำอย่างไรจะเป็นการวางแผนครอบครัวที่ปลอดภัย แต่ถ้าเขาถึงวัยแล้ว พร้อมแล้วทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมหรือว่าไลฟ์สไตล์ ควรจะมีการส่งเสริมจากทางภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงชุมชนและครอบครัว ให้เขามีครอบครัวและตัดสินใจเองได้ว่าเมื่อไหร่เขาจะพร้อมที่จะมีบุตร” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าว

นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวด้วยว่า UNFPA นั้นสนับสนุนให้ทางภาครัฐมีนโยบายที่เอื้อต่อการมีบุตรง่ายขึ้น เช่น การสร้างสังคมที่ดี การสร้างสวัสดิการที่เหมาะสมต่อทั้งเด็กและพ่อแม่ รวมถึงให้ความเท่าเทียมแก่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศและกลุ่มคนชายขอบที่ยังไม่มีเอกสาร หรือกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวพ่อเลี้ยงเดี่ยว โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดของ UNFPA ก็คือสังคมที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเลือกชีวิตและเลือกอนาคตของตัวเอง

ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าท้ายด้านประชากร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงพม.กับทุกกระทรวงในประเทศไทย พร้อมทั้งหน่วยงานของสหประชาชาติและธนาคารโลก ได้ร่วมกันทําเวิร์คช็อปและตกผลึกออกมาเป็นนโยบายที่ชื่อว่า 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤตประชากรซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นระเบิดเวลาลูกที่จะเกิดขึ้นก่อนเรื่อง climate change และอีกหลายๆ เรื่อง เพราะในอีกไม่เกิน 10 ปี จากนี้ไปประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

นายวราวุธอธิบายว่า นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรนั้นประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ แต่ละยุทธศาสตร์มี 5 มาตรการ ยุทธศาสตร์แรกเป็นเรื่องการสร้างพลังเสริมพลังให้คนกลุ่มวัยทำงานมีศักยภาพในการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว, ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นเรื่องการเพิ่มคุณภาพเด็กเล็ก, ยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นเรื่องการดูแลและสร้างพลังให้กับผู้สูงอายุ, ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นเรื่องการสร้างพลังเสริมพลังให้กับกลุ่มคนพิการ, และยุทธศาสตร์ที่ 5 เป็นเรื่องการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้คนทุกวัยสามารถอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างสังคมที่ปลอดภัย และทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมามีสังคมที่ดีกว่า

“การกระตุ้นให้คนมีบุตรไม่ใช่แค่ให้คนสองคนมาอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่จะให้เงิน 5 แสนบาท ล้านบาท ต่อลูกหนึ่งคน ประเด็นอยู่ที่ว่าสมัยนี้พอเงินหมดแล้วจะทำอย่างไรต่อ และหากไปถามคนรุ่นใหม่ว่าถ้าอยากจะมีลูก ท่านต้องการอะไร ผมเชื่อว่ามันคงไม่ใช่แค่เรื่องเงิน มันทั้งเรื่องการศึกษา การคมนาคม การสื่อสาร คุณภาพชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในทรัพย์สิน ปัญหายาเสพติด ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย และต่างๆ อีกมากมาย ดังนั้นการที่จะเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรคงจะไม่ใช่ปัญหาแค่เรื่องการเจริญพันธุ์อย่างเดียว ไม่ใช่บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงพม.อย่างเดียว แต่เป็นบทบาทที่ทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องมาร่วมกัน” นายวราวุธ กล่าว

งานเฉลิมฉลองวันประชากรโลกในครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย อาทิ ปาฐกถาพิเศษนำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากรายงานสถานการณ์ประชากรโลก เวทีเสวนาซึ่งมีผู้แทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอ กิจกรรมแสดงความคิดเห็นที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ร่วมงานตอบคำถามเกี่ยวกับความต้องการมีบุตร การแสดงดนตรี และกิจกรรมเปิดตัวสติ๊กเกอร์ไลน์ SoSafe เป็นต้น โดยทุกกิจกรรมนั้นมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างการตระหนักรู้ว่า สิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นรากฐานของความยุติธรรมทางสังคมและการพัฒนาประเทศ เมื่อผู้คนมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการมีบุตรของตนเองได้อย่างเสรี ไร้แรงกดดัน ไร้ความกลัว และไร้ข้อจำกัด สังคมจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยุติธรรม และเปี่ยมชีวิตชีวา