Thursday, October 31, 2024
Latest:
ไลฟ์สไตล์

บำรุงราษฎร์ ชูศักยภาพ ‘Eye Excellence Center’ และมิติการทำงานแบบไร้รอยต่อ รวดเร็ว ปลอดภัย ครบวงจร ตอบโจทย์ทุกปัญหาความซับซ้อนโรคของดวงตา

‘ดวงตา’ เป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนที่ควรใส่ใจดูแล เพราะบางครั้งอาจตรวจพบโรคอื่นซ่อนอยู่ การที่โรงพยาบาลมีจักษุแพทย์ชำนาญการในแต่ละด้าน (Sub-specialties) รวมถึงแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขาในสถานที่ให้บริการเดียวกันได้อย่างครบวงจร และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ พร้อมมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าทั่วโลกพบประชากร 2.2 พันล้านคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 50% เป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้หรือยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ในปี 2563 มีประชากร 1.1 พันล้านคนสูญเสียการมองเห็น โดยคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้ที่สูญเสียการมองเห็นเพิ่มขึ้นอีก 600 ล้านคน เป็น 1.7 พันล้านคน

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ปัญหาเกี่ยวกับ ‘ดวงตา’ เป็นเรื่องใกล้ตัวซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตาดังกล่าว จึงได้จัดงานแถลงข่าว Eye Excellence Center ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพดวงตาและการป้องกันก่อนเกิดโรค เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญและซับซ้อน จึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้การดูแลเพื่อรักษาไว้ซึ่งการมองเห็นที่ดีตามช่วงวัยที่เหมาะสม โดยศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีความพร้อมในการดูแลรักษาทุกโรคเกี่ยวกับดวงตาในทุกช่วงวัย ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มอาการทั่วไปจนถึงกลุ่มอาการที่มีความซับซ้อน รวมถึงผู้ที่ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินและกระทบต่อใบหน้าหรือดวงตาอย่างรุนแรง โดยมีจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการในแต่ละด้าน (Sub-specialties) เช่น จักษุแพทย์เฉพาะทางโรคกระจกตา โรคของจอตา โรคของกล้ามเนื้อตา เนื้อเยื่อรอบดวงตาและเบ้าตา และในกรณีที่มีความซับซ้อนของโรคอื่นร่วมด้วย จักษุแพทย์จะให้การรักษาร่วมกันกับทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางศูนย์อื่นๆ เช่น แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม, แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา ทีมเภสัชกรและทีมสหสาขาวิชาชีพ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์การรักษามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

พญ. เมทินี ศิริมหาราช หัวหน้าศูนย์จักษุและจักษุแพทย์เฉพาะทางโรคจอตาและน้ำวุ้นตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การที่คนเราจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น ทุกองค์ประกอบของดวงตามีความสำคัญ โดยเฉพาะ ‘จอตา หรือเรตินา’ ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของดวงตา เพราะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพในการมองเห็น ในภาวะที่จอตาปกติ แสงที่ผ่านเข้ามาแล้วหักเหผ่านกระจกตาและเลนส์ตาจะตกกระทบที่จอตาพอดี ทำให้ภาพที่มองเห็นมีความคมชัด ในทางกลับกัน หากป่วยเป็นโรคของจอตาหลาย ๆ โรคที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ เพราะจอประสาทตาเป็นอวัยวะที่เมื่อเสื่อมหรือเสียหายไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่ได้เหมือนกระจกตา โดยโรคของจอประสาทตาที่พบบ่อย ได้แก่ จอตาฉีกขาดหลุดลอก จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เบาหวานขึ้นจอตาในผู้ป่วยเบาหวาน โรคจอประสาทตาเสื่อมจากพยาธิสภาพของจอตาเอง มักเป็นแต่กำเนิด เช่น จอประสาทตาบางกว่าปกติ มีรูขาด หลุดลอก หรือเสียหายจากภาวะสายตาสั้นมาก

พญ. ณัฐธิดา วงศ์วีระวัฒน์ จักษุแพทย์เฉพาะทางโรคกล้ามเนื้อตาและโรคตาในเด็ก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังมีผู้ปกครองที่ไม่ทราบว่าเด็กแรกเกิดก็อาจเกิดปัญหาเรื่องสายตาได้เช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่คุณแม่คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ หรือน้ำหนักตัวลูก ไม่ถึง 1,500 กรัม เด็กในกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงที่การเจริญเติบโตของเส้นประสาท และเส้นเลือดในจอประสาทตาเกิดเป็นเส้นเลือดที่ผิดปกติ อาจทำให้มีเลือดออกที่จอประสาทตาหรือจอประสาทตาหลุดลอก หรือเป็นพังผืดได้ ซึ่งทางบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ชำนาญการในแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) หรือ กุมารแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับจักษุแพทย์จะมีการมอนิเตอร์และประเมินพัฒนาการในการมองเห็นและความเสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพราะหากไม่ได้รับการดูแลรักษาในช่วงเวลาที่กำหนด ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร 

กรณีคุณแม่ฝากครรภ์และคลอดบุตรที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทางโรงพยาบาลฯ จะมีมาตรฐานการตรวจพัฒนาการด้านการมองเห็นของทารกหากพบปัญหาหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จะมีการปรึกษาแพทย์ชำนาญการด้านจอตาและจักษุแพทย์โรคตาเด็กแนวทางการรักษาในกรณีทารกมีโรคจอตาผิดปกติอันเกิดจากการคลอดก่อนกำหนดมีหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยเลเซอร์ การฉีดยาเข้าไปยับยั้งการเจริญผิดปกติของเส้นเลือดในจอประสาทตา และการผ่าตัดจอประสาทตา นอกจากนี้ เด็กกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะสายตาสั้น ตาเข ตาเหล่ตามมาภายหลังได้มากกว่าเด็กที่คลอดตามกำหนด จักษุแพทย์โรคตาเด็กจะรับช่วงดูแลต่อและมีการตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดผลเสียต่อดวงตาของเด็กในระยะยาวหรือบรรเทาความรุนแรงหรือความซับซ้อนของโรคได้

พอเด็กโตขึ้นก็มักจะพบ ‘โรคสายตาสั้นในเด็ก’ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและเปลี่ยนแปลงเร็วและพบในอายุที่น้อยลง เด็กบางรายสายตาสั้นตั้งแต่ขวบกว่า ส่วนหนึ่งมาจากเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีเด็กหลายรายที่สายตาทั้งสองข้างสั้นไม่เท่ากันและมีค่าสายตาต่างกันมาก และมีความเสี่ยงโรคสายตาขี้เกียจ ปัจจุบันศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีคลินิกสายตาสั้นในเด็ก ซึ่งมีจักษุแพทย์โรคตาเด็ก ที่จะให้การรักษาและแนะนำการยับยั้งหรือชะลอไม่ให้ค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเร็วตามแนวทางการแพทย์สากลในปัจจุบัน เพราะการที่สายตาสั้นไม่ใช่เพียงรอการแก้ไขด้วยเลสิคเท่านั้น แต่สายตาสั้นที่มากขึ้นจะมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงภายในตาและความเสี่ยงของโรคตา โดยเฉพาะโรคจอตาที่มากขึ้น ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญและพาบุตรหลานมาตรวจเช็คสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อหาแนวทางการป้องกันและรักษาเพื่อชะลอภาวะสายตาสั้นได้ โดยศูนย์จักษุได้มีการรักษาและการป้องกันโดยอ้างอิงจากงานวิจัยสากลเรื่องสายตาสั้นที่มีทั่วโลกในขณะนี้ เช่น การรักษาด้วยยา low- dose atropine eyedrops และเลนส์แว่นตาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยชะลอสายตาสั้นในเด็ก โดยจักษุแพทย์ตาเด็กจะเป็นผู้ตรวจ ให้ข้อมูลแนะนำในแต่ละรายซึ่งมีความแตกต่างกันไป นอกจากนี้ โรงพยาบาลฯ ได้มีงานวิจัยต่อยอดที่ได้รับการยอมรับจากสากลเกี่ยวกับการการพัฒนายาหยอดตาในกลุ่มนี้ เพื่อให้คนไข้ได้รับประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

ด้านของ พญ. ฐาริณี กุลกำม์ธร จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้มีคนไข้หลายรายที่มาด้วยปัญหาสายตาสั้นและสายตาเอียง และต้องการแก้ไขด้วยรีเล็กสมายส์ (ReLEx SMILE) ซึ่งคนไข้มักจะคิดว่ามาตรวจแล้วสามารถรักษาได้ในวันเดียวกัน แต่อันที่จริงการรักษามีความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น แพทย์ต้องประเมินอาการหรือสาเหตุของปัญหาที่อาจเกิดร่วมกันได้ บางรายมีความซับซ้อนมาก แพทย์ต้องประสานและปรึกษาร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงค่อยทำ ReLEx SMILE เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ

ยกตัวอย่าง คนไข้มาด้วยอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนมาเป็นเวลานานมาก ตรวจพบค่าสายตาสั้นและเอียง 1 ข้าง สายตายาวและเอียงอีก 1 ข้าง ซึ่งค่าแตกต่างกันมาก และพบตาเหล่อีกเล็กน้อย รายนี้ต้องปรึกษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านกล้ามเนื้อตา เพื่อยืนยันมุมตาที่เหล่ร่วมกับการคำนวณค่าสายตาในการยิงค่าเลเซอร์ให้ได้ผลดีที่สุดสำหรับคนไข้ทั้งด้านการมองเห็น และไม่เกิดการกระตุ้นให้ตาเหล่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยอีกรายอยู่ในขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ซึ่งคนไข้ต้องการทำ ReLEx SMILE ก่อนฝังตัวอ่อน คืออยากแก้ไขปัญหาสายตาสั้นก่อนที่จะมีบุตร จึงปรึกษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้าน IVF ถึงกระบวนการรักษา IVF ของคนไข้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนไข้ที่อยากมองเห็นลูกน้อยได้อย่างชัดเจนในช่วงเวลาสำคัญที่เป็นความสุขของครอบครัว ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด และได้ผลสรุปว่าสามารถทำ ReLEx SMILE ได้ก่อน เพราะขั้นตอนยังไม่ได้กระทบต่อการทำ IVF แล้วจากนั้นอีก 1 เดือนค่อยเก็บไข่คนไข้ และเข้าสู่กระบวนการทำ IVF ต่อไป

นพ. ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ด้านเปลือกตา ท่อน้ำตา และเบ้าตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเสริมว่า ศูนย์จักษุยังให้บริการครอบคลุมในด้านศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างด้วย โดยแพทย์จะดูแลรักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคเบ้าตาและศัลยกรรมตกแต่งรอบดวงตา อาทิ ไทรอยด์ขึ้นตา ตาโปน ท่อน้ำตาอุดตัน หนังตาตก หนังตาม้วนเข้าใน/ม้วนออกนอก รวมถึงอุบัติเหตุทางตา เป็นต้น

ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหลายรายที่ประสบอุบัติเหตุและกระทบต่อเบ้าตาอย่างรุนแรง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับทีมแพทย์สาขาอื่น ๆ ทั้งภายในศูนย์จักษุเอง รวมถึงแพทย์เฉพาะทางในแผนกอื่นๆ ยกตัวอย่างหญิงชาวยูเครนได้รับอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์พลิกคว่ำ หน้ากระแทกค่อนข้างรุนแรง จนใบหน้าหักทั้งหน้า ผู้ป่วยรายนี้ถือว่ามีความซับซ้อนและเป็นอีกรายที่ยาก ต้องมีการปรึกษาแพทย์ที่มีความชำนาญการสูงในหลายแขนง ทั้งจักษุแพทย์เฉพาะทางกล้ามเนื้อตา แพทย์ศัลยกรรมตกแต่งทางตา แพทย์ศัลยกรรมพลาสติก และต้องอาศัยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญการและมีประสบการณ์สูงมาก โดยครั้งแรกเข้าผ่าตัดถึง 11 ชั่วโมง และดูแลรักษาต่อเนื่องอีกประมาณ 4-6 เดือน จากนั้นก็เข้ารักษากับจักษุแพทย์เฉพาะทางกล้ามเนื้อตา เพื่อผ่าตัดให้ตาตรง ปัจจุบันคนไข้รายนี้ มีใบหน้าและดวงตากลับมาใกล้เคียงปกติดี ส่วนอีกรายเป็นผู้ป่วยไทรอยด์ในผู้ใหญ่ มีปัญหาตาโปนมากจนตาใกล้จะบอด ทำให้ต้องรับการผ่าตัดแก้ไขเบ้าตา เปลือกตา ซึ่งต้อง consult แพทย์ชำนาญการที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านต่อมไร้ท่อ, จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการถึง 3 ด้าน (กล้ามเนื้อ, เส้นประสาทตา และแก้ไขเบ้าตา เปลือกตา), แพทย์ผู้ชำนาญการด้านรังสีวิทยาเพื่อการฉายแสงและการให้ยาชีววัตถุร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้ตาที่โปนยุบได้ ซึ่งผู้ป่วยไทรอยด์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการติดตามอาการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี จนกว่าโรคจะสงบ

รศ. พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ประธานชมรมกระจกตาและการแก้ไขสายตาแห่งประเทศไทย และจักษุแพทย์เฉพาะทางโรคกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการที่บำรุงราษฎร์สามารถให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาได้ ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ถึงความพร้อมในทุกมิติของศูนย์จักษุ เพราะก่อนที่คนไข้จะปลูกถ่ายกระจกตาได้นั้น แพทย์ต้องมีการซักประวัติและตรวจสุขภาพผู้ป่วยอย่างละเอียด ตรวจสุขภาพตาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปลูกถ่ายกระจกตา เช่น ต้องดูว่ามีภาวะต้อหิน ดูประสาทตาและจอตา ความดันลูกตา มีตาแดง มีการติดเชื้อหรือไม่ ต้องเตรียมสภาพผิวตาให้มีความพร้อมที่จะปลูกถ่ายกระจกตา เนื่องจากการอักเสบต่าง ๆ จะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านของเนื้อเยื่อได้ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานที่สอดประสานกันของจักษุแพทย์เกือบทุกแขนง และต้องปรึกษาร่วมกันในแต่ละรายว่าสามารถผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาได้หรือไม่ ที่สำคัญ บำรุงราษฎร์มีการทำงานร่วมกับศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย และศูนย์ดวงตานำเข้าจากต่างประเทศที่ได้การรับรองมาตรฐานขั้นสูง โดยมีการตรวจสอบคุณภาพกระจกตาที่จะนำมาเปลี่ยนให้กับผู้ป่วย มีความใส คุณภาพดี ไม่มีโรคที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาภายหลังการผ่าตัด

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สามารถทำการรักษาโรคกระจกตาเสื่อมและต้อกระจกได้ในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยลักษณะนี้ถ้าทำการรักษาแบบผู้ป่วยต้อกระจกทั่วไป อาจจะทำให้กระจกตาเสียได้ ดังนั้น ก่อนการรักษาแพทย์จะวางแผนร่วมกันและวิเคราะห์ผู้ป่วยแต่ละรายว่าเหมาะสมกับการรักษาพร้อมกันหรือไม่ โดยแพทย์จะอธิบายถึงวิธีการรักษาและให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจว่าต้องการรักษาแบบใด ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถทำหัตถการได้พร้อมกันถึง 2 โรค ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญการและประสบการณ์ของแพทย์อย่างมาก ทั้งนี้แพทย์แต่ละแขนงต้องทำงานร่วมกันได้แบบไร้รอยต่อจริงๆ

พญ. เมทินี ศิริมหาราช หัวหน้าศูนย์จักษุและจักษุแพทย์เฉพาะทางโรคจอตาและน้ำวุ้นตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวปิดท้ายว่า ทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่าแพทย์ไทยเก่งและมีความสามารถมาก แต่สิ่งที่จะทำให้วงการแพทย์พัฒนาก้าวไปไกลมากขึ้น คือ การหยิบเอาความรู้ความชำนาญการของแพทย์แต่ละท่าน รวมถึงจุดแข็งของแพทย์ในแต่ละสาขามาไว้รวมกันและทำงานร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้กระบวนการการรักษาเกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์หลังการรักษาได้อย่างดีที่สุด ส่วนนี้จะช่วยเอื้อประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคยาก หรือโรคที่ซับซ้อน โดยสถิติการรักษาในปี 2565 ได้แสดงถึงอัตราความสำเร็จของการผ่าตัดเกี่ยวกับโรคตาโดยเฉลี่ยสูงกว่า 90% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานในระดับสากล สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมในทุกมิติของศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์