จุรินทร์ “ลุยอุบล” มอบเช็คชำระหนี้แทน พร้อม “แจกโฉนดคืนเกษตรกรกองทุนฟื้นฟู” และนำคณะติดตาม “ประกันรายได้ ปี2” ใน “จุรินทร์ออนทัวร์ อีสาน “
วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.45 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทัศน์ เงินหมื่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวบุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานีเขต 2 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการ บริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร และคณะ มอบเช็คชําระหนี้และมอบโฉนดที่ดินของกองทุนฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้แก่เกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี และประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกยางพารา มันสําปะหลัง ข้าว ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรเป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นเงื่อนไขตัดสินใจก่อนเข้าร่วมรัฐบาล โครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยมันสำปะหลังประกันรายได้กิโลกรัมละ 2.50 บาท ยางแผ่นดิบชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาท ข้าวหอมเกวียนละ 15,000 บาท ปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 4 บาท เมื่อไหร่ที่ราคาต่ำกว่ารายได้ที่ประกัน จะมีส่วนต่างโอนเข้าบัญชีพี่น้องเกษตรกรโดยตรง ทำให้มีรายได้ 2 ทาง จากราคาตลาดและเงินส่วนต่าง โดยได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว ปีหน้าจะเป็นปีที่ 3 เฉพาะเงินส่วนต่างผู้ปลูกข้าวหอมมะลิได้เงินส่วนต่างปีที่ 2 บางครอบครัวได้สูงสุดถึง 42,830 บาท มันสำปะหลังได้สูงสุดถึงครัวเรือนละ 28,000 บาท ยางพาราได้สูงสุดถึงครัวเรือนถึง 13,400 บาท
สำหรับกองทุนฟื้นฟู นอกจากโครงการประกันรายได้ที่ได้ผลักดันในการเข้าร่วมรัฐบาล พวกตนได้เริ่มต้นจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเมื่อปี 2540 ในยุครัฐบาลชวน 2 (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ) และตนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มจะออกพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
กองทุนฟื้นฟูมีภารกิจ 2 เรื่อง 1.เมื่อเกษตรกรเป็นหนี้สถาบันการเงินหรือหนี้บุคคลค้ำถ้าชำระหนี้ไม่ได้ กองทุนฟื้นฟูสามารถเข้าไปช่วยเกษตรกรไม่ให้ถูกยึดที่ดินทำกิน โดยการซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน มาเป็นหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและมาผ่อนกับกองทุนฟื้นฟู โดยไม่ยึดที่ดินทำกิน เพื่อให้โอกาสทำกินในที่ดินต่อไปและมีเงินมาเลี้ยงชีพที่ดินจะไม่ตกเป็นของสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของกองทุนฟื้นฟู
2.หน้าที่ในการฟื้นฟูชีวิตของเกษตรกร โดยจัดเงินก้อนหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือให้พี่น้องทำโครงการพัฒนาคุณภาพพืชผลทางการเกษตรหรือฟื้นฟูชีวิตของพี่น้องเกษตรกรต่อไป เพื่อให้ชีวิตพี่น้องดีขึ้นครบวงจร
ขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูถึง 5 ล้านคน และมาขึ้นทะเบียนเป็นหนี้ 490,000 คนหรือประมาณ 500,000 คน ตั้งแต่ที่ตนเป็นประธานมา 2 ปี ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปหลายเรื่องสำคัญ เช่น 1.จัดตั้งอนุกรรมการประจำจังหวัดครบทั้ง 76 จังหวัด 2.ได้แก้กฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรรายย่อยที่เป็นหนี้บุคคลค้ำให้กองทุนไปซื้อนี่บุคคลค้ำจากเกษตรกรได้ อย่างน้อย 200,000 ราย 3.ดอกเบี้ย สำหรับเกษตรกรที่เป็นหนี้กองทุนจะคิดดอกเบี้ย 0% 4.อนุมัติงบจัดการหนี้ให้ไปซื้อหนี้แล้ว 1,328 ล้านบาท และงบฟื้นฟูให้อีก 430 ล้านบาท
โดยวันนี้มามอบงบฟื้นฟูจากที่พี่น้องเสนอมา 19 โครงการมีสมาชิก 273 คนเป็นงบประมาณ 11,624,000 บาท และมอบเช็คชำระหนี้แทนเกษตรกร 3 สหกรณ์จำนวน 30,790,000 บาท และเกษตรกร 30 รายได้ใช้หนี้หมดแล้ว จะมาคืนโฉนดให้และมอบเกียรติที่บัตรว่าท่านเป็นเกษตรกรตัวอย่างว่าเป็นหนี้กองทุนแล้วสามารถทำงานเก็บเงินและชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ตามกฎเกณฑ์กติกาทุกประการ กองทุนจะนำเงินนี้ไปช่วยเหลือเกษตรกรรายอื่นต่อไป